ปัญหากวนตัวกวนใจที่เกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ เมื่อเกิดแล้วก็จะสร้างความรำคาญคันไม่รู้จักหยุดจักหย่อนจนต้องเกาๆๆๆ
“อาการคัน” เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ได้บ่อยมาก อาการคันเป็นความรู้สึกไม่สบายผิวหนังที่ทำให้อยากเกา นอกจากโรคผิวหนังแล้ว ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการคัน 10-50% จะตรวจพบว่ามีโรคทางกายที่เป็นสาเหตุของอาการคันร่วมด้วย เช่น โรคไต ตับ หรือ เบาหวาน ดังนั้นก่อนที่จะวินิจฉัยว่า อาการคันมาจากโรคภายใน จำเป็นต้องซักประวัติโดยละเอียด ต้องแยกอาการคันจากแมลงกัด หิด และผิวแห้ง
เวลาและอุณหภูมิก็มีส่วน โดยกลางคืนจะคันมากกว่าเวลากลางวัน
เพราะการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติในเวลากลางคืนเพิ่มขึ้น เป็นผลให้หลอดเลือดขยายตัวเป็นปัจจัยตัวกระตุ้นให้คัน และความอบอุ่นในเวลากลางคืน ยังทำให้สมองส่วนกลางซึ่งควบคุมความรู้สึกคันไวต่ออุณหภูมิที่ร้อนเพิ่มขึ้น ในผู้ป่วยซึ่งมีอาการคันในเวลากลางคืน มักเป็นโรคไม่ใช่สาเหตุจากด้านจิตใจ และโรคผิวหนังบางโรคผู้ป่วยจะเกาประมาณร้อยละ 10 ของเวลาหลับ
สาเหตุการเกิดอาการคัน มีดังนี้
1.การเปลี่ยนแปลงชั้นผิวหนัง คัน จากการสัมผัส สารระคาย หรือสารภูมิแพ้ หนามและขนของแมลง พืชบางชนิดก็ทำให้คันได้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม อากาศร้อน ลมแรง อากาศหนาว อากาศแห้งก็เป็นปัจจัยทำให้ผิวหนังแห้ง และเกิดอาการคันตามมา
2.คันจากโรคผิวหนัง โรคผิวหนังส่วนใหญ่จะมีอาการคันร่วมด้วย แต่ความรุนแรงจะขึ้นกับสภาพจิตและความไวของแต่ละบุคคล ผื่นคันเฉพาะที่พบบ่อย คือ ผื่นแพ้ผิวหนัง กลาก ผื่นคันทั่วตัว เช่น ลมพิษ โรคหิด
3.โรคแฝงในอวัยวะอื่น อาจพบรอยผื่นเกาทั่วตัวไม่พบลักษณะจำเพาะเจาะจงของโรคผิวหนัง อาการคันเป็นอาการที่นำมาพบแพทย์ เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคตับ โรคไต โรคโลหิตและมะเร็งต่าง ๆ ภาวะหมดประจำเดือน และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
4.คันจากความผิดปกติของระบบปลายประสาท เช่น ปลายประสาทอักเสบจากโรคงูสวัด และเริมใน
5.สาเหตุอื่น ๆ อาการคันอาจเกิดจากสารสื่อในสมองปรวนแปร และอาจเกิดจากปัญหาทางจิตใจ
ในแผนจีนโรคผิวหนังหรืออาการคันเหล่านี้เกิดจากพิษลม เลือดที่ไม่สมดุล ตับไต และ ปอดที่อ่อนแอ
1. ลม
“ลมหนาว” เวลาเจออากาศเย็น ผิวแห้งมีสะเก็ดสีขาวอยู่บนตุ่มสีแดง การรักษาด้วยยาจีนจึงต้องใช้ยาสลายเลือดระบายลม กระจายหนาวปรับสมดุลชั้นผิวหนัง
“ลมร้อน” ฐานของเม็ดที่คันจะแดงชื้นๆ ปิดด้วยสะเก็ดสีขาว ต้องใช้ยาจีนที่ชำระเลือดและทำให้เลือดเย็น
“ลมชื้น” จะมีแผลและฟอนเฟะมีน้ำเยิ้ม ร้อน และคันจนสุดทน ต้องใช้ยาจีนที่ดับร้อนขับชื้น ไล่ลมระงับอาการคัน
2. เลือด
“เลือดร้อน” ไม่มีตุ่มเกิดใหม่ แต่จะเป็นซ้ำที่จุดเดิม ทำให้แผลขยายใหญ่ขึ้น สะเก็ดหนาขึ้น รอบๆ แผลจะมีขอบนูนล้อมรอบ บางครั้งมีอาการเหมือนมีไข้ร่วมด้วย ชนิดนี้ต้องใช้ยาจีนที่ดับร้อนเย็นเลือดกระจายเลือด
“เลือดพร่องลมแห้ง” ผิวที่เคยเป็นค่อยๆ หายไป แต่ผิวแห้งมาก ปากแห้งคอแห้ง ต้องใช้ยาจีนที่ดับร้อนบำรุงยินเพิ่มความชุ่มชื้น
3. ตับและไต
“ตับไตอ่อนแอ” เป็นเรื้อรังมานาน ผิวแห้งตรงที่เคยเป็นตุ่มจะมีพื้นแดง มีสะเก็ดสีขาว พร้อมกับมีอาการเวียนหัว อ่อนเพลีย ปวดหลังปวดเอว หน้าซีดเหลือง ต้องใช้ยาจีนปรับสมดุลตับและไต บำรุงยินบำรุงเลือด ระงับคันเพิ่มความชุ่มชื้น
4. ปอด
ผิวหนังของคนเราควบคุมดูแลโดยปอด ถ้าปอดแข็งแรง ผิวหนังก็แข็งแรง ถ้าปอดไม่แข็งแรงผิวหนังก็อ่อนแอ ทำให้เกิดอาการแพ้ง่ายเช่นกัน
นอกจากนี้ ถ้าการคันตามผิวหนังเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ก็จะต้องดูว่าหยินพร่องหรือเปล่า ถ้าหยินไม่พอ ผิวหนังก็แห้ง แล้วเกิดอาการคันได้เช่นกัน หรือการทำงานของตับไม่แข็งแรงพอ การขับพิษอ่อนแอลงก็ทำให้เกิดตุ่มคันขึ้นได้บ่อย
เมื่อเกิดผื่นคันหรือโรคผิวหนังอย่าตื่นตกใจ ร้อยละ 80 จะหายได้เอง ควรตั้งสติพิจารณาว่าเกิดจากสาเหตุใด และเมื่อหลีกเลี่ยงก็ยังไม่ทุเลาควรพบแพทย์ อย่างไรก็ตามผู้ป่วย ที่มีอาการคันมากอาจนอนไม่หลับทำให้สุขภาพทรุดโทรม ดังนั้นผู้ป่วยที่คันเรื้อรังควรดูแลไม่ให้เกิดผิวแห้ง ด้วยการทาครีมให้ความชุ่มชื้น งดการฟอกสบู่บ่อย ๆ งดการอาบน้ำร้อนจัดหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าระคายเคืองผิวง่าย และลดความเครียด เพราะความเครียดจะทำให้อาการคันกำเริบได้ รวมถึงอาหารการกินที่ต้องระวังมากขึ้นด้วย
โรคผิวหนังกับการรับประทานอาหาร
อาหารต้องห้ามสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคผิวหนัง หรือผู้ป่วยธาตุร้อน
1. อาหารทะเล เช่น ปลาหมึก กุ้ง ปู ส่วนปลาต่างๆ สามารถรับประทานได้
2. ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วลิสง (ถั่วเหลืองรับประทานได้)
3. ของหมักดอง เช่น ผลไม้ดอง ปูดอง ปลาร้า ผักกาดดอง
4. อาหารรสจัดต่างๆ เช่น เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด เค็มจัด (ปูเค็ม ปลาเค็ม)
5. สัตว์ปีก เช่น เป็ด ห่าน ไก่
6. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์
7. อื่นๆ ได้แก่ หน่อไม้ เนื้อวัว ข้าวเหนียว
8. ขนุนสุกๆ จะทำให้ผิวหนังคันมากๆ
9. ก๋วยเตี๋ยว บางร้านที่ต้มน้ำซุปด้วย หัวกุ้ง ปลาหมึกแห้ง
อาหารที่ควรรับประทาน
– น้ำมันมะพร้าว+กระเทียม
– การดื่มน้ำให้ถูกต้องและพอสำหรับร่างกาย
– ข้าวกล้อง ลดการอักเสบ (เลี่ยงข้าวขาว)
– มะละกอดิบ ผักสด+ผลไม้ เพิ่มอาหารที่มีฤทธิ์เย็น เช่น ผักผลไม้ แตงกวา ฟัก ถั่วต้ม+เห็ดหูหนูขาว หรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เย็น เช่น น้ำใบบัวบก ย่านาง เก็กฮวย จับเลี้ยง น้ำถั่วเขียว เพื่อดับร้อนในร่างกาย ดื่มแทนน้ำทุกวันจะดีมาก ไม่ใส่น้ำตาล หรือน้ำตาลน้อย
– เน้นอาหารจากธรรมชาติไม่ผ่านการปรุงแต่งหรือปรุงแต่งให้น้อยที่สุด
– วิตามินและเกลือแร่ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ
– อาหารที่ย่อยง่ายและเคี้ยวอาหารให้นานขึ้น
– สาหร่ายทะเลช่วยส่งเสริมการทำงานไทรอยด์ (เพิ่มภูมิต้านทาน)