วิธีตรวจ แบบโบราณ
การแมะ อยู่คู่กับการแพทย์แผนจีนมายาวนาน ในยุคสมัยที่มนุษย์ยังไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัย มนุษย์จึงต้องเรียนรู้ ที่จะสังเกตจากธรรมชาติ ว่าในยามที่ร่างกายผิดปกติ จะมีอาการใดสำแดงออกมาให้เห็นหรือสัมผัสได้บ้าง การสูบฉีดโลหิต คือรหัสลับสำคัญ
ชาวจีนจึงสั่งสมความรู้มาอย่างยาวนานนับพันปี การแมะ คือการตรวจจับชีพจร
ซึ่งถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนการวินิจฉัยโรคของแพทย์แผนจีน โดยการใช้นิ้วทั้ง 3 นิ้วของแพทย์แตะสัมผัสชีพจรของผู้ป่วยบริเวณข้อมือซ้ายและขวาข้างละ 3 ตำแหน่ง รวมทั้งสองข้าง หกตำแหน่ง
เพื่อให้ทราบถึงสภาวะของร่างกายที่ตอบสนองต่อโรคภัยไข้เจ็บในขณะนั้นการแพทย์แผนจีนเรียกขั้นตอน
การวินิจฉัยโรคพื้นฐานว่า “เปี้ยนเจิง” มีทั้งหมด 4 ขั้นตอน การแมะ หรือการตรวจจับชีพจรนั้น
ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการวินิจฉัยโรค ซึ่งกว่าจะถึงขั้นตอนของการแมะ ยังมีอีก 3
ขั้นตอนที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่มักถูกละเลยไม่ได้รับการกล่าวถึง
ขั้นตอนที่ 1 คือการมองสำรวจ ตรวจดูสีหน้า แววชีวิต ลักษณะอาการ ดูว่าสีหน้าซีด คล้ำ
หรือมีประกายสดใส เลือดฝาดสมบูรณ์ หรือไม่ บริเวณอวัยวะต่างๆ สีผิวเป็นอย่างไร เช่น
ถ้าบริเวณส่วนหูดำคล้ำส่วนใหญ่มักเป็นโรคไต ถ้ารูปร่างผอมผิวแห้งคล้ำมักเป็นโรคปอด หรือถ้าบริเวณเยื่อตาเหลืองหรือแดงมักเป็นโรคเกี่ยวกับตับ เป็นต้น อีกประการหนึ่งคือ
การวิเคราะห์ลิ้นซึ่งสำคัญมากต้องดูทั้งตัวลิ้น สีสัน คราบเมือกบนลิ้น ซึ่งจะบอกถึงสภาวะภายในของร่างกายได้เป็นอย่างดี การมองดูเป็นวิธีการตรวจโรคตามทฤษฎีด้วยอวัยวะและเส้นลมปราณ
ภายนอกร่างกายมนุษย์กับอวัยวะส่วนต่างๆภายในร่างกายมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด
หากสมรรถนะของอวัยวะในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง ก็จะแสดงออกมาที่การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ หน้าตา รูปร่างและท่าทางเป็นต้น ดังนั้น การสังเกตุการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างและอวัยวะที่ใบหน้า ก็จะสามารถวินิจฉัยการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะภายในได้
ขั้นตอนที่ 2 การฟังและการสัมผัสกลิ่น ถ้าเสียงพูดของคนไข้เบา ช้า และเหนื่อย แสดงถึงพลังชี่หรือพลังลมปราณที่อ่อนแอ การพูดเสียงดังฟังชัด การโต้ตอบชัดเจนรวดเร็วแสดงถึงพลังชี่ที่สมบูรณ์แข็งแรง นอกจากนี้เสียงไอ เสียงกรน เสียงเรอ เสียงดังในท้อง กลิ่นตัว กลิ่นลมหายใจ กลิ่นปาก เหล่านี้ล้วนเป็นอาการที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคได้ทั้งสิ้น
ขั้นตอนที่ 3 การถาม นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก การถามที่ละเอียดและแยกแยะตรงประเด็น จะทำให้ทราบข้อมูล การเจ็บป่วยถึง 60-70 % ช่วยให้การวิเคราะห์โรคได้ผลมากยิ่งขึ้น เช่น
ถามอาการเจ็บป่วย เหงื่อ การขับถ่าย อาการปวดหัว เสมหะเหนียวข้นหรือใส หายใจหอบเหนื่อยหรือไม่
ลักษณะการมีรอบเดือน ประวัติการเจ็บป่วย ของคนในบ้าน เป็นต้น
ขั้นตอนสุดท้ายคือ การแมะ โดยแพทย์จะใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางของแพทย์ วางลงบนตำแหน่งชีพจร
ของคนไข้บริเวณข้อมือฝั่งหัวแม่โป้ง สำหรับข้อมือซ้ายของคนไข้
ตำแหน่งที่นิ้วชี้ของแพทย์สัมผัสข้อมือคนไข้เรียกว่า “ฉุ่ง”
เป็นตำแหน่งที่ใช้ตรวจลักษณะอาการของหัวใจและลำไส้เล็ก ตำแหน่งนิ้วกลางของแพทย์เรียกว่า “กวง”
ใช้ตรวจลักษณะอาการของตับและดี และตำแหน่งสุดท้ายเป็นตำแหน่งที่นิ้วนาง ของแพทย์สัมผัสกับข้อมือของคนไข้ เรียกว่าตำแหน่ง “เฉียะ” ใช้ตรวจลักษณะอาการของไตและกระเพาะปัสสาวะ